วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562

ต้นหูกวาง

ต้นหูกวาง

หูกวาง

หูกวาง ชื่อสามัญ Bengal almond, Indian almond, Olive-bark tree, Sea almond, Singapore almond, Tropical Almond, Umbrella Tree[1],[2]
หูกวาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia catappa L. จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)[1],[2]
สมุนไพรหูกวาง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตาปัง (พิษณุโลก, สตูล), โคน (นราธิวาส), หลุมปัง (สุราษฎร์ธานี), คัดมือ ตัดมือ (ตรัง), ตาแปห์ (มลายู-นราธิวาส) เป็นต้น[1] (ต้นหูกวางเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดตราด)

ลักษณะของต้นหูกวาง

  • ต้นหูกวาง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง ที่มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร บางครั้งอาจสูงได้ถึง 30-35 เมตร (แต่ไม่ค่อยพบต้นที่ใหญ่มากในประเทศไทย) มีเรือนยอดหนาแน่น แตกกิ่งก้านแผ่ออกในแนวราบเป็นชั้น ๆ คล้ายฉัตร ลำต้นเปลาตรง ต้นที่มีอายุมากและมีขนาดใหญ่จะเป็นพูพอนที่โคนต้น เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทาเกือบเรียบ แตกเป็นร่องแบบตื้น ๆ ตามแนวนอนและแนวตั้ง และลอกออกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ทั่วไป กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล ส่วนเนื้อไม้เป็นสีแดง เป็นกลีบเล็กน้อย มีเสี้ยนไม้ละเอียดสามารถขัดชักเงาได้ดี ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด บางครั้งน้ำหรือค้างคาวก็ช่วยในกระจายพันธุ์ได้ด้วยเช่นกัน และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำได้ดีอย่างดินร่วนพอควรหรือปนทราย[1],[2] หูกวางเป็นพันธุ์ไม้ในป่าชายหาดที่พบขึ้นกระจายตามชายฝั่งทะเล พบปลูกทั่วตั้งแต่ประเทศอินเดียจนถึงตอนเหนือของทวีปออสเตรเลียทางตอนเหนือ ต้นหูกวางเป็นพืชทิ้งใบ โดยทั่วไปแล้วจะทิ้งใบ 2 ครั้ง ในรอบ 1 ปี หรือในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือยกุมภาพันธ์ และอีกช่วงในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งก่อนขจะทิ้งใบ ใบหูกวางจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มแดง ในปัจจุบันนี้ได้มีการนำต้นหูกวางมาปลูกทั่วไปในพื้นที่เขตร้อนอย่างทวีปเอเชีย ส่วนในประเทศไทยมักพบขึ้นตามชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ตราดและชลบุรี) ภาคตะวันตกเฉียงใต้ (ประจวบคีรีขันธ์และกาญจนบุรี) และภาคใต้ (นราธิวาส ตรัง และสุราษฎร์ธานี)[2]
ต้นหูกวาง
  • ใบหูกวาง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันเป็นกระจุกหนาแน่นบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ (ปลายใบกว้างกว่าโคนใบ) โคนใบมนเว้าหรืแสอบแคบเป็นรูปลิ่ม และมีต่อมเล็ก ๆ หนึ่งคู่อยู่ที่โคนใบบริเวณท้องใบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นหยักเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-25 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบมีขน เนื้อใบหนา ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นเขียวเข้ม แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงเมื่อใกล้ร่วงหรือผลัดใบ มีก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร มีขน มักผลัดใบในช่วงฤดูหนาวในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[1],[2]
ใบหูกวาง
  • ดอกหูกวาง ออกดอกเป็นช่อยาวแบบติดดอกสลับ โดยจะออกตามซอกใบ ลักษณะเป็นแท่งยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร มีดอกย่อยเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ดอกมีขนาดเล็กและไม่มีกลิ่นหอม (บางข้อมูลว่ามีกลิ่นฉุนด้วยเล็กน้อย) ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้จะอยู่บริเวณปลายช่อ ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่บริเวณโคนช่อ (อีกข้อมูลระบุว่าดอกแบบสมบูรณ์จะอยู่โคนช่อ) ไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก มีขนด้านนอก ดอกเกสรเพศผู้มี 10 ชั้น ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตร โดยดอกจะออกดอกสองครั้งรอบ 1 ปี คือ ในช่วงฤดูหนาวหลังจากแตกใบใหม่ (เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม) และอีกครั้งในช่วงฤดูฝน (เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม)[1],[2]
ดอกหูกวาง
  • ผลหูกวาง ผลเป็นผลเดี่ยวในแต่ละผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรีค่อนข้างแบนเล็กน้อย ผลแข็ง มีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ผลด้านข้างเป็นแผ่นหรือเป็นสันบาง ๆ นูนออกรอบผล ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียว และมีกลิ่นหอม ผิวผลเรียบ ผลเมื่อแห้งจะเป็นสีดำคล้ำ เปลือกผลมีเส้นใย ภายในมีเมล็ดเดี่ยว เมล็ดมีขนาดใหญ่ เหนียว และเปลือกในแข็ง โดยผลจะแก่ในช่วงในช่วงแรกประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และอีกช่วงหนึ่งประมาณพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[3]
ผลหูกวาง
ลูกหูกวาง
  • เมล็ดหูกวาง ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่หรือรูปรี แบนป้อมเล็กน้อยคล้ายกับผล เมื่อเมล็ดแห้งจะเป็นสีน้ำตาล แข็ง ภายในมีเนื้อมาก[1],[2],[3]
เมล็ดหูกวาง

สรรพคุณของหูกวาง

  1. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ทั้งต้น)[1],[2]
  2. ใบมีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ (ใบ)[1],[2]
  3. ช่วยแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ (ใบ)[1],[2]
  4. ใบใช้ผสมกับน้ำมันจากเนื้อในเมล็ด นำมาทาหน้าอกจะช่วยแก้อาการเจ็บหน้าอก หรือใช้ทาไขข้อและส่วนของร่างกายที่หมดความรู้สึก (ใบและน้ำมันจากเมล็ด)[1],[2]
  5. เปลือกมีรสฝาด สรรพคุณเป็นยาขับลม แก้ท้องเสีย (เปลือก)[1],[2]
  6. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิด (ทั้งต้น)[1],[2]
  7. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ทั้งต้น)[1],[2]
  8. ผลมีสรรพคุณเป็นยาถ่าย (ผล)[1],[2]
  9. ใบที่มีสีแดงจะมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ (ใบ)[1],[2]
  10. ใบใช้เป็นยารักษาโรคทางเดินอาหารและตับ (ใบ)[1],[2]
  1. บางข้อมูลระบุว่าเมล็ดใช้รับประทานเป็นยาแก้ขัดเบา แก้นิ่วได้ (เมล็ด)[6]
  2. เปลือกใช้เป็นยาแก้ตกขาวของสตรี (เปลือก)[1],[2]
  3. รากมีสรรพคุณช่วยทำให้ประจำเดือนของสตรีมาตามปกติ (ราก)[2]
  4. ช่วยรักษาโรคโกนีเรีย (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) (เปลือก)[1],[2]
  5. เปลือกและทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาสมาน (เปลือก,ทั้งต้น)[1],[2]
  6. ใบใช้ผสมกับน้ำมันจากเนื้อในเมล็ด เป็นยารักษาโรคเรื้อน (ใบและน้ำมันจากเมล็ด)[1],[2]
  7. ใช้แก้โรคคุดทะราด (ทั้งต้น)[1],[2]
  8. ใบมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ (ใบ)[1],[2]
  9. ช่วยขับน้ำนมของสตรี (ทั้งต้น)[1],[2]
  10. ส่วนบางข้อมูลระบุว่า ใบมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการผื่นคันตามผิวหนังและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และยังพบฤทธิ์ทางเภสัชว่า ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบ แก้อาการปวด ลดอุณหภูมิภายในร่างกายหรือลดไข้ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว และทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว ควรนำมาใช้เป็นยาเฉพาะในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ (ข้อมูลจาก : เว็บไซต์โรงเรียนอุทัยวิทยาคม) ข้อมูลส่วนนี้ยังขาดแหล่งอ้างอิงนะครับ ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ประโยชน์ของหูกวาง

  1. เมล็ดหูกวางสามารถนำมารับประทานได้ และยังมีโปรตีนที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายของเราอีกด้วย[2]
  2. คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดหูกวาง ต่อ 100 กรัม ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายประกอบไปด้วย พลังงาน 594 แคลอรี, น้ำ 4%, โปรตีน 20.8 กรัม, ไขมัน 54 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 19.2 กรัม, ใยอาหาร 2.3 กรัม, วิตามินบี1 0.32 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.08 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 0.6 มิลลิกรัม, แคลเซียม 32 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 789 มิลลิกรัม, และธาตุเหล็ก 9.2 มิลลิกรัม เป็นต้น[5]
  3. เมล็ดสามารถนำเอาไปทำเป็นน้ำมันเพื่อนำไปใช้บริโภค (คล้ายน้ำมันอัลมอนด์) หรือทำเครื่องสำอางได้[2]
  4. เปลือกและผลมีสารฝาดมาก สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมสีผ้า ฟอกหนังสัตว์ และทำหมึกได้[2] ในอดีตมีการนำเอาเปลือกผลซึ่งมีสารแทนนินมาใช้ในการย้อมหวาย และได้มีการทดลองใช้ใบเพื่อย้อมสีเส้นไหม พบว่าสีที่ได้คือสีเหลือง สีเขียวขี้ม้า หรือสีน้ำตาลเขียว[4]
  5. ใบแก่นำมาแช่น้ำใช้รักษาบาดแผลของปลาสวยงาม อย่างเช่น ปลากัด ปลาหางนกยูงได้ อีกทั้งยังช่วยบำรุงสุขภาพปลาและสีสันของปลา ช่วยทำให้ตับของปลานั้นดีขึ้น จึงส่งผลให้ปลาแข็งแรง ช่วยป้องกันไม่ให้ปลาเป็นโรค (แต่ควรระมัดระวังเรื่องของยาฆ่าแมลงที่อาจพบได้ในใบหูกวาง) (รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ)
  6. เนื้อไม้หูกวาง สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้าง ทำบ้านเรือน หรือเครื่องเรือนได้ดี เพราะเป็นไม้ที่ไม่มีมอดและแมลงมารบกวน หรือนำมาใช้ทำฟืนและถ่านก็ได้[2]
  7. ในปัจจุบันต้นหูกวางเป็นพรรณไม้ที่นิยมปลูกกันมาก เพื่อเป็นไม้ประดับตามข้างทางหรือตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สวนสาธารณะ สถานที่ราชการ ริมถนน สวนป่า หรือปลูกในที่โล่งต่าง ๆ เป็นต้น โดยเป็นต้นไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนแล้ง ทนน้ำขังแฉะ แต่โดยมากจะนิยมปลูกเป็นไม้เพื่อให้ร่มเงามากกว่าเป็นไม้ประดับ เพราะมีกิ่งเป็นชั้น ๆ เรือนยอดหนาแน่น และหากต้องการให้ต้นหูกวางแผ่ร่มเงาออกไปกว้างขวาง ก็ต้องตัดยอดออกเมื่อได้เรือนยอดหรือกิ่งประมาณ 3-4 ชั้น ซึ่งจะทำให้เรือนยอดแตกกิ่งใบออกทางด้านข้าง[2],[3] (ไม่ควรนำมาปลูกใกล้บริเวณตัวอาคารบ้านเรือน เนื่องจากหูกวางเป็นไม้โตเร็ว รากจะดันตัวอาคารทำให้อาคารบ้านเรือนแตกร้าวเสียหายได้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น