วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562

ต้นกระบือ

ต้นกระบือ

กระบือเจ็ดตัว

กระบือเจ็ดตัว ชื่อสามัญ Picara[5]
กระบือเจ็ดตัว ชื่อวิทยาศาสตร์ Excoecaria cochinchinensis Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Excoecaria bicolor (Hassk.) Zoll. ex Hassk., Excoecaria cochinchinensis var. cochinchinensis) จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[4]
สมุนไพรกระบือเจ็ดตัว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะเบือ (ราชบุรี), ใบท้องแดง (จันทบุรี), บัว บัวลา กระทู้ กระทู้เจ็ดแบก (ภาคเหนือ), กระบือเจ็ดตัว กำลังกระบือ ลิ้นกระบือ (ภาคกลาง), ต้นลิ้นควาย, ตาตุ่มไก่, ตาตุ่มนก, ลิ้นกระบือขาว เป็นต้น[1],[3],[4]

ลักษณะของกระบือเจ็ดตัว

  • ต้นกระบือเจ็ดตัว จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อม มีความสูงได้ประมาณ 0.5-1.5 เมตร แตกกิ่งก้านมาก มีรูอากาศตามผิวกิ่ง ตามกิ่งก้านมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนม[1],[4] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้เร็ว ขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบดินร่วน ความชื้นในระดับปานกลางถึงสูง และแสงแดดแบบเต็มวันถึงรำไร เป็นพืชที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบอินโดจีน รวมทั้งบ้านเราด้วย[3],[5],[6]
ต้นกระบือเจ็ดตัว
  • ใบกระบือเจ็ดตัว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบกิ่งหรือออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-13 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีม่วงแดง เส้นแขนงใบมีข้างละ 7-12 เส้น ก้านใบยาวได้ประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร หูใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร[1],[4]
ใบกระบือเจ็ดตัว
ใบท้องแดง
  • ดอกกระบือเจ็ดตัว ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีเหลืองอมเขียว ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่คนละต้นกัน ช่อดอกเพศเมียจะอยู่ส่วนล่าง ส่วนปลายด้านบนจะเป็นดอกเพศผู้ โดยช่อดอกเพศผู้จะเป็นแบบช่อกระจะ ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีดอกย่อยอยู่จำนวนมาก โคนก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็กลักษณะเป็นรูปไข่เรียงซ้อนกัน มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 1.7 มิลลิเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ ลักษณะกลีบเลี้ยงเป็นรูปหอก ปลายจักเป็นฟันเลื่อยถี่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.6-1 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มีขนาดเล็กมาก มี 3 อัน อับเรณูเป็นรูปกลม สั้นกว่าก้านชูอับเรณูเล็กน้อย ส่วนช่อดอกเพศเมียจะสั้นกว่าดอกเพศผู้ มีดอกประมาณ 2-3 ดอก ขนาดประมาณ 1.2-1.5 ถึง 1-1.3 มิลลิเมตร ก้านดอกแข็ง ยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร โคนก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็ก ๆ และมีต่อมเล็ก ๆ สีเหลือง กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กเป็นรูปไข่ มี 3 กลีบ ติดกันที่ฐานเล็กน้อย มีขนาดกว้างประมาณ 1.2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.8 มิลลิเมตร รังไข่เล็กเป็นสีเขียวอมชมพู กลม เกลี้ยง มีช่อง 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมี 3 อัน ยาวประมาณ 2.2 มิลลิเมตร[1],[4]
ดอกกระบือเจ็ดตัว
  • ผลกระบือเจ็ดตัว ผลมีขนาดเล็กลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร ฐานตัด ปลายผลเว้าเข้า ผลมีพู 3 พู เป็นผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกออกได้เป็น 3 ส่วน ภายในมีเมล็ดลักษณะเกือบกลม เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 มิลลิเมตร[1],[4]
ผลกระบือเจ็ดตัว

สรรพคุณของกระบือเจ็ดตัว

  1. ใบตากแห้งใช้ชงดื่ม เช่น ใบชาเป็นยารักษาโรคกษัย (ใบ)[3]
  2. ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้ (ใบ)[4]
  3. กระพี้และเนื้อไม้ใช้เป็นยาถอนพิษผิดสำแดง ถอนพิษไข้ แก้ร้อนภายใน (กระพี้และเนื้อไม้)[4]
  4. ใบมีรสร้อนเฝื่อนขื่น ใช้ใบสดประมาณ 7-10 ใบ นำไปตำกับเหล้าขาวหรือเหล้าโรง คั้นเอาน้ำกินเป็นยาขับน้ำคาวปลาหลังคลอดให้สะดวก ขับเลือดเน่าเสียของสตรี แก้อักเสบบริเวณปากมดลูก แก้สันนิบาตหน้าเพลิง (บาดทะยักในปากมดลูก) ขับเลือดร้าย แก้สันนิบาตเลือด แก้ประจำเดือนขัดข้อง ช่วยทำให้เลือดกระจาย (ใบ)[1],[2],[3],[4]
  5. ใบใช้กินเป็นยาขับเลือดเสีย (ใบ)[1]
  6. ในชวาจะใช้ใบสดตำพอกห้ามเลือด (ใบ)[1],[4]
  7. ใช้เป็นยาแก้บวมฟกช้ำ ดำเขียว แก้พิษบาดทะยัก (ใบ)[4]
  8. ในฮ่องกง จะใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้คางทูม ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้หัด แก้ปวดตึงกล้ามเนื้อ (ทั้งต้น)[4]
ข้อควรระวัง : มีบางข้อมูลระบุว่า ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ในคนที่มีร่างกายปกติ เพราะจะทำให้เลือดออกในทวารทั้งเจ็ดได้ และต้องใช้โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมหรือเภสัชกรรมเท่านั้น (ไม่มีแหล่งอ้างอิง) และยังมีข้อมูลที่ระบุด้วยว่า ในใบและยางจะมีสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง อาการเป็นพิษที่เกิดจะขึ้นอยู่กับส่วนของร่างกายที่สัมผัสสาร ส่วนวิธีการรักษานั้นให้รักษาไปตามอาการ ถ้าถูกยางที่ผิวหนังให้รีบล้างออกด้วยสบู่และน้ำสะอาดและทาด้วยครีมสเตียรอยด์ แต่หากเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งในทันที และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป (ไม่มีแหล่งอ้างอิง)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระบือเจ็ดตัว

  • ในใบกระบือเจ็ดตัวพบ beta-sitosterol, beta-sitosteryl-3-O-D-glucopyranoside, methyl 10-epipheophorbide-a, kaempferol, gallic acid, chiro-inositol, KCl[4]
  • จากการทดลองในสัตว์พบว่า สารสกัดจากกระบือเจ็ดตัวด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์บีบมดลูก[2]

ประโยชน์ของกระบือเจ็ดตัว

  1. ยางจากต้นเป็นพิษ ในประเทศอินโดนีเซียจะนำมาใช้เป็นยาเบื่อปลา[1],[4]
  2. นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดยนำมาปลูกลงในกระถางประดับตามมุมบ้าน หรือปลูกเป็นกลุ่ม ๆ ปลูกลงในแปลงประดับสวนทั่วไป ทั้งในสภาพแสงมากและแสงน้อย เป็นไม้พุ่มที่นิยมใช้กันมาก สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[4],[5],[6]
  3. ใช้ทำดอกไม้ประดิษฐ์[6]
  4. ใช้ทำเป็นลูกประคบเพื่อรักษาก้อนไขมันที่บริเวณข้อมือ ด้วยการใช้ใบกระบือเจ็ดตัว 1 กำมือ นำมาผสมกับหญ้าตีนกาและใบกะเพราแดง (อย่างละเท่ากัน) ผสมเกลือและการบูรอีกเล็กน้อย ห่อเป็นลูกประคบและพรมด้วยสุรา จากนั้นนำไปนึ่งและใช้ประคบบริเวณที่เป็น (ข้อมูลจาก : www.starten.co.th)
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “กระบือเจ็ดตัว (Kra Bue Chet Tua)”.  หน้า 32.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “กระบือเจ็ดตัว”.  หน้า 111.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ใบท้องแดง”.  หน้า 442.
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระบือเจ็ดตัว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [28 มิ.ย. 2015].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “ลิ้นกระบือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th.  [28 มิ.ย. 2015].
  6. คมชัดลึกออนไลน์.  “กระบือเจ็ดตัว เป็นยา”.  (นายสวีสอง). 

อ้างอิง   https://medthai.com/%

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น