วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562

ต้นยูคาลิปตัส

ยูคาลิปตัส


ยูคาลิปตัส

ยูคาลิปตัส ชื่อสามัญ Eucalyptus[4]
ยูคาลิปตัส ชื่อวิทยาศาสตร์ Eucalyptus globulus Labill. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eucalyptus gigantea Dehnh., Eucalyptus glauca A.Cunn. ex DC., Eucalyptus globulosus St.-Lag., Eucalyptus globulus subsp. globulus, Eucalyptus maidenii subsp. globulus (Labill.) J.B.Kirkp., Eucalyptus perfoliata Desf., Eucalyptus pulverulenta Link) จัดอยู่ในวงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE)[1],[2]
สมุนไพรยูคาลิปตัส มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โกฐจุฬารส น้ำมันเขียว มันเขียว ยูคาลิป (ไทย), อันเยี๊ยะ หนานอัน (จีนกลาง)[1],[2]
หมายเหตุ : ต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกกันทั่วไปจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eucalyptus camaldulensis Dehnh. ซึ่งเป็นคนละชนิดกับยูคาลิปตัสที่นำมาใช้ทำยาในบทความนี้ (ชนิดทำยามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eucalyptus globulus Labill.)[3]

ลักษณะของยูคาลิปตัส

  • ต้นยูคาลิปตัส จัดเป็นไม้ยืนต้น ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 10-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบค่อนข้างกลม แตกกิ่งก้านมาก เปลือกต้นบางเรียบเป็นมันและลอกออกง่าย เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนปนขาว หรือมีสีเทาสลับสีขาวและสีน้ำตาลแดงเป็นบางแห่ง เปลือกนอกจะแตกร่อนเป็นแผ่น ๆ และหลุดออกจากผิวของลำต้น เมื่อแห้งจะลอกได้ง่าย กิ่งก้านเล็กเป็นเหลี่ยม มีจุดตากลม[1],[2]
ต้นยูคาลิปตัส
เปลือกต้นยูคาลิปตัส
  • ใบยูคาลิปตัส ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับเป็นคู่ ใบห้อยลง ลักษณะของใบเป็นรูปหอก ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 12-30 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเป็นสีเขียวอมสีน้ำเงิน มีผงคล้ายแป้งปกคลุม เส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน ก้านใบสั้น ก้านใบยาวประมาณ 2 เซนติเมตร[1],[2]
ใบยูคาลิปตัส
  • ดอกยูคาลิปตัส ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ มีดอกประมาณ 2-3 ดอก ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้หลายก้าน ออกดอกเกือบตลอดทั้งปี[1],[2]
ดอกยูคาลิปตัส
รูปดอกยูคาลิปตัส
  • ผลยูคาลิปตัส ผลมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลมหรือคล้ายรูปถ้วย ปลายผลแหลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร เปลือกผลหนา มีรอยเส้นสี่เหลี่ยม 4 เส้น เมื่อผลแก่ปลายผลจะแยกออก[1],[2]
ผลยูคาลิปตัส
รูปผลยูคาลิปตัส
เมล็ดยูคาลิปตัส

สรรพคุณของยูคาลิปตัส

  1. ใบและเปลือกรากมีรสขมเผ็ด กลิ่นหอม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด ลำไส้ และทางเดินปัสสาวะ ใช้ใบเป็นยาแก้ไข้ ไข้หวัดติดเชื้อ ไข้หวัดใหญ่ (ใบ)[1],[3]
  2. ใช้เป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้น้ำมันที่กลั่นได้จากใบสด 0.5 มิลลิเมตร (ประมาณ 8 หยด) นำมารับประทานหรือทำเป็นยาอม (ใบ)[2]
  3. น้ำมันยูคาลิปตัสนำมาใช้ทาคอ จะช่วยแก้ไอ หรือใช้อมแก้หวัดคัดจมูก (น้ำมันยูคาลิปตัส)[3]
  4. ช่วยขับเสมหะ ด้วยการใช้น้ำมันที่กลั่นได้จากใบสด 0.5 มิลลิเมตร (ประมาณ 8 หยด) นำมารับประทานหรือทำเป็นยาอม (ใบ)[2],[3]
  5. ช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบ (ใบ)[2]
  6. ช่วยรักษาลำไส้อักเสบ แก้บิด (ใบ)[1]
  7. ช่วยแก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ใบ)[1]
  8. ใช้แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ผดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ ติดเชื้อไวรัสบริเวณผิวหนัง (ใบ)[1]
  9. ช่วยแก้ฝีมีหนองอักเสบ ฝีหัวช้าง (ใบ)[1]
  10. ใช้ทาถูนวดตามอวัยวะต่าง ๆ เพื่อแก้อาการฟกช้ำ (น้ำมันยูคาลิปตัส)[3]
หมายเหตุ : การใช้ตาม [1] ให้ใช้ใบยาแห้งครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานหรือใช้เข้ากับตำรับยาอื่น ส่วนการใช้ภายนอกให้กะตามความเหมาะสม ส่วนใบสดให้ใช้ครั้งละ 18-30 กรัม[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของยูคาลิปตัส

  • ในใบยูคาลิปตัสพบน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.92-2.89% Oleum Eucalypti ประกอบด้วยสาร เช่น Aromadendrene, Cineole, Pinene, Pinocarvon, Pinocarveol, Cuminaldehyde, 1-Acely 1-4 isopropylide-necyclopentene, Quercitrinm Quercetin Rutin ใบพบ Eucalyptin, Tannin และ Guaiacol Globulol.[1]
  • สาร Oleum Eucalypti ความเข้มข้นอยู่ที่ 6% จะสามารถช่วยยับยั้งเชื้อวัณโรค H37, Rv ได้[1]
  • สารที่สกัดได้จากยูคาลิปตัสมีฤทธิ์ขับพยาธิปากขอได้[1]
  • สารสกัดจากยูคาลิปตัส สามารถยับยั้งเชื้อ Staphylo coccus ได้ โดยฤทธิ์ที่ยับยั้งเชื้อได้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารสกัด[1]
  • สารสกัดจากยูคาลิปตัส สามารถดับพิษจากเชื้อบาดทะยักและเชื้อคอตีบได้ โดยนำสารที่สกัดได้มาทำเป็นยาฉีดให้กระต่ายที่ติดเชื้อบาดทะยักหรือเชื้อคอตีบ ในอัตราส่วน 0.2 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการติดเชื้อดังกล่าวได้ และไม่มีอาการแสดงพิษของเชื้อที่ติดอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานถึง 2 สัปดาห์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น