วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562

ต้นราชพฤกษ์

ต้นราชพฤกษ์

ราชพฤกษ์

ราชพฤกษ์ ชื่อสามัญ Golden shower, Indian laburnum, Pudding-pine tree, Purging Cassia
ราชพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
สมุนไพรราชพฤกษ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กุเพยะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ปูโย ปีอยู เปอโซ แมะหล่าอยู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลักเกลือ ลักเคย (กะเหรี่ยง), ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ (ภาคกลาง), ลมแล้ง (ภาคเหนือ), ราชพฤกษ์ (ภาคใต้), คูน (ทั่วไปเรียกและมักจะเขียนผิดหรือสะกดผิดเป็น “ต้นคูณ” หรือ “คูณ“) เป็นต้น
คำว่า “ราชพฤกษ์” มีความหมายว่า “ต้นไม้ของพระราชา” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงานมหกรรมพืชสวนโลกซึ่งจัดขึ้นเพื่อฉลองในวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่พระเจ้าอยู่หัวของเราทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี

ต้นราชพฤกษ์ ต้นไม้ประจำชาติไทย

เมื่อปี พ.ศ.2544 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้มีข้อเสนอและสรุปให้มีการกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติ 3 สิ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ดอกไม้ สัตว์ และสถาปัตยกรรม ซึ่งจากการพิจารณาได้ข้อสรุปว่า ให้สัตว์ประจำชาติคือ “ช้างไทย” ส่วนในด้านสถาปัตยกรรมประจำชาติคือ “ศาลาไทย” และในส่วนของดอกไม้ประจำชาติก็คือ “ดอกราชพฤกษ์” โดยมีเหตุผลในการคัดเลือกดังนี้
  • ต้นคูน หรือ ต้นราชพฤกษ์ จัดเป็นต้นไม้ประจำชาติไทย (ตามประกาศของกรมป่าไม้)
  • ต้นไม้ราชพฤกษ์ เป็นต้นไม้ที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในนามของ “ต้นคูน” สามารถพบเห็นได้ทั่วไปของทุกภาคในประเทศ
  • ต้นราชพฤกษ์มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีชาวไทยมาอย่างช้านาน เพราะเป็นไม้มงคลนามและใช้ในการประกอบพิธีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ หลายพิธี เช่น พิธีลงเสาหลักเมือง ทำคทาจอมพล ใช้ทำยอดธงชัยเฉลิมพล เป็นต้น
  • ต้นราชพฤกษ์นั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การใช้เป็นยาสมุนไพรหรือนำมาใช้ทำเป็นเสาบ้านเสาเรือนได้ ฯลฯ
  • ต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนนานและแข็งแรงทนทาน
  • ต้นราชพฤกษ์มีรูปทรงและพุ่มที่งดงาม มีดอกเหลืองอร่ามเต็มต้น แลดูสวยงามยิ่งนัก
  • ดอกราชพฤกษ์มีสีเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา และยังเป็นสัญลักษณ์ของวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • นอกจากนี้ตามตำราไม้มงคล 9 ชนิดยังระบุไว้ว่า ต้นราชพฤกษ์เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นใหญ่ ความมีอำนาจวาสนา มีโชคมีชัย
สมุนไพรราชพฤกษ์ กับการนำมาใช้รักษาโรคและอาการต่าง ๆ โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นสรรพคุณทางยานั้น ได้แก่ ส่วนของใบ ดอก เปลือก ฝัก แก่น กระพี้ ราก และเมล็ด ซึ่งสมุนไพรราชพฤกษ์ เป็นสมุนไพรที่สามารถใช้ได้ทั้งกับเด็ก สตรี รวมไปถึงผู้สูงอายุ โดยไม่มีอันตรายใด ๆ

ลักษณะของต้นราชพฤกษ์

  • ต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูน) เป็นพืชพื้นเมืองในแถบเอเชียใต้ ไล่ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถานไปจนถึงอินเดีย พม่า และประเทศศรีลังกา โดยจัดเป็นพรรณไม้ขนาดกลาง มีลำต้นสีน้ำตาลแกมเทาเกลี้ยง มักขึ้นทั่วไปตามป่าผลัดใบหรือในดินที่มีการถ่ายเทน้ำดี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดแล้วย้ายกล้ามาปลูกในถุงเพาะชำ เมื่อโตพอแล้วก็ย้ายมาปลูกในพื้นที่ แต่ในปัจจุบันอาจจะใช้วิธีการทาบกิ่งและเสียบยอดก็ได้ แต่โอกาสสำเร็จจะน้อยกว่าวิธีการเพาะเมล็ด
ต้นราชพฤกษ์
ราชพฤกษ์
  • ใบราชพฤกษ์ (ใบคูน) ลักษณะของใบออกเป็นช่อ ใบสีเขียวเป็นมัน ช่อหนึ่งยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร และมีใบย่อยเป็นไข่หรือรูปป้อม ๆ ประมาณ 3-6 คู่ ใบย่อยมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร โคนใบมนและสอบไปทางปลายใบ เนื้อใบบางเกลี้ยง มีเส้นแขนงใบถี่และโค้งไปตามรูปใบ
ใบราชพฤกษ์
  • ดอกราชพฤกษ์ (ดอกคูน) ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย และกลีบดอกยาวกว่ากลีบรองดอกประมาณ 2-3 เท่า และมีกลีบรูปไข่จำนวน 5 กลีบ บริเวณพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน ที่ดอกมีเกสรตัวผู้ขนาดแตกต่างกันจำนวน 10 ก้าน มีก้านอับเรณูโค้งงอขึ้น ดอกมักจะบานในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แต่ก็มีบางกรณีที่ออกดอกนอกฤดูเหมือนกัน เช่น ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
ดอกราชพฤกษ์ดอกคูน
  • ผลราชพฤกษ์ หรือ ฝักราชพฤกษ์ (ฝักคูณ) ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปทรงกระบอกเกลี้ยง ๆ ฝักยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร และวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ราว 2-2.5 เซนติเมตร ฝักอ่อนจะมีสีเขียว ส่วนฝักแก่จัดจะมีสีดำ ในฝักจะมีผนังเยื่อบาง ๆ ติดกันอยู่เป็นช่อง ๆ ตามขวางของฝัก และในช่องจะมีเมล็ดสีน้ำตาลแบน ๆ อยู่ มีขนาดประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร
ฝักคูนฝักราชพฤกษ์

สรรพคุณของราชพฤกษ์

  1. ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (เปลือก)
  2. สารสกัดจากลำต้นและใบของราชพฤกษ์มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (ลำต้น, ใบ)
  3. สารสกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (เมล็ด)
  4. ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือถุงน้ำดี (ราก)
  5. ราชพฤกษ์มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ราก)
  6. ฝักราชพฤกษ์มีสรรพคุณทางยาช่วยแก้ไข้มาลาเรีย (ฝัก)
  7. ช่วยแก้ไข้รูมาติกด้วยการใช้ใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
  8. ฝักอ่อนมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นเหม็นเอียน เย็นจัด สรรพคุณสามารถใช้ขับเสมหะได้ (ฝักอ่อน)
  9. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ฝัก)
  10. เปลือกเมล็ดและเปลือกฝักมีสรรพคุณช่วยถอนพิษ ทำให้อาเจียน หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 5-6 เมล็ด นำมาบดเป็นผงแล้วรับประทานก็ได้ (เมล็ด, ฝัก)
  1. ต้นราชพฤกษ์ สรรพคุณของกระพี้ใช้แก้อาการปวดฟัน (กระพี้)
  2. ในอินเดียมีการใช้ฝัก เปลือก ราก ดอก และใบมาทำเป็นยา ใช้เป็นยาแก้ไข้และหัวใจ แก้อาการหายใจขัด ช่วยถ่ายของเสียออกจากร่างกาย แก้อาการซึมเศร้า หนักศีรษะ หนักตัว ทำให้ชุ่มชื่นทรวงอก (เปลือก, ราก, ดอก, ใบ, ฝัก)
  3. สรรพคุณราชพฤกษ์ช่วยแก้โรครำมะนาด (กระพี้, แก่น)
  4. ช่วยรักษาเด็กเป็นตานขโมยด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ฝัก)
  5. ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก (เนื้อในฝัก)
  6. ฝักแก่ใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย ทำให้ถ่ายได้สะดวก ไม่มวนท้อง แก้อาการท้องผูก เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ และสตรีมีครรภ์ เพราะมีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone glycoside) เป็นตัวช่วยระบาย สำหรับวิธีการใช้ ให้ใช้ฝักแก่ขนาดก้อนเท่าหัวแม่มือ (หนักประมาณ 4 กรัม) และน้ำอีก 1 ถ้วยแก้วใส่หม้อต้ม แล้วผสมเกลือเล็กน้อย ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าหรือช่วงก่อนนอนเพียงครั้งเดียว (ฝักแก่, ดอก, เนื้อในฝัก, ราก, เมล็ด)
  7. เมล็ดมีรสฝาดเมา สรรพคุณช่วยแก้ท้องร่วง (เมล็ด)
  8. ช่วยหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและแผลเรื้อรัง (ดอก)
  9. ช่วยรักษาโรคบิด (เมล็ด)
  10. สรรพคุณของราชพฤกษ์ ฝักช่วยแก้อาการจุกเสียด (ฝัก)
  11. ช่วยทำให้เกิดลมเบ่ง ด้วยการใช้เมล็ดฝนกับหญ้าฝรั่น น้ำดอกไม้เทศ และน้ำตาล แล้วนำมากิน (เมล็ด)
  12. ฝักและใบมีสรรพคุณช่วยขับพยาธิ ด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ, ฝัก, เนื้อในฝัก)
  13. ต้นคูณมีสรรพคุณช่วยขับพยาธิไส้เดือนในท้อง (แก่น)
  14. เปลือกฝักมีรสเฝื่อนเมา ช่วยขับรกที่ค้าง ทำให้แท้งลูก (เปลือกฝัก)
  15. สารสกัดจากใบคูนมีฤทธิ์ช่วยต้านการเกิดพิษที่ตับ (ใบ)
  16. สรรพคุณของคูน รากใช้แก้โรคคุดทะราด (ราก)
  17. ใบสามารถนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรค เชื้อโรคบนผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราได้ (ใบ)
  18. ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง (ใบ)
  19. รากนำมาฝนใช้ทารักษากลากเกลื้อน และใบอ่อนก็ใช้แก้กลากได้เช่นกัน (ราก, ใบ)
  20. เปลือกและใบนำมาบดผสมกันใช้ทาแก้เม็ดผดผื่นตามร่างกายได้ (เปลือก, ใบ)
  21. เปลือกมีสรรพคุณช่วยแก้ฝี แก้บวม หรือจะใช้เปลือกและใบนำมาบดผสมกันใช้ทารักษาฝี (เปลือก, ใบ)
  22. คูน สรรพคุณของดอกช่วยแก้บาดแผลเรื้อรัง รักษาแผลเรื้อรัง (ดอก)
  23. เปลือกราชพฤกษ์ สรรพคุณช่วยสมานบาดแผล (เปลือก)
  24. ฝักคูณมีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดข้อ (เนื้อในฝัก)
  25. ชาวอินเดียใช้ใบนำมาโขลก นำมาพอกแล้วนวด ช่วยแก้โรคปวดข้อและอัมพาต (ใบ)
  26. ช่วยกำจัดหนอนและแมลง โดยฝักแก่มีสารออกฤทธิ์ที่ส่งผลต่อระบบประสาทของแมลง เมื่อนำฝักมาบดผสมกับน้ำทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วใช้สารละลายที่กรองได้มาฉีดพ่นจะช่วยกำจัดแมลงและหนอนในแปลงผักได้ (ฝักแก่)
  27. สารสกัดจากรากราชพฤกษ์มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Acetylcholinesterase
  28. นอกจากนี้ยังมีการนำสมุนไพรราชพฤกษ์มาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น
    • น้ำมันนวดราชพฤกษ์ ที่เคี่ยวมาจากน้ำมันจากใบคูน เป็นน้ำมันนวดสูตรร้อนหรือสูตรเย็น ที่ใช้นวดแก้อัมพฤกษ์อัมพาต และแก้ปัญหาเรื่องเส้น
    • ลูกประคบราชตารู เป็นลูกประคบสูตรโบราณ ที่ใช้ใบคูนเป็นตัวยาตั้งต้น ประกอบไปด้วย ขมิ้นอ้อย เทียนดำ กระวาน และอบเชยเทศ โดยลูกประคบสูตรนี้จะใช้ปรุงตามอาการ โดยจะดูตามโรคและความต้องการเป็นหลัก ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เหมือนกัน
    • ผงพอกคูนคาดข้อ ทำจากใบคูนที่นำมาบดเป็นผง ช่วยแก้อาการปวดเส้น อัมพฤกษ์อัมพาต โดยนำมาพอกบริเวณที่เป็นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการปวดข้อ รักษาโรคเกาต์ และยังช่วยลดอาการอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งสูตรนี้สามารถใช้กับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก ตาไม่หลับ มุมปากตกได้ด้วย
    • ชาสุวรรณาคา ทำจากใบคูน สรรพคุณช่วยในด้านสมอง แก้ปัญหาเส้นเลือดตีบในสมอง ช่วยให้ระบบไหลเวียนในร่างกายดีขึ้น ช่วยแก้อัมพฤกษ์อัมพาต โดยเป็นตัวยาที่มีไว้ชงดื่มควบคู่ไปกับการรักษาแบบอื่น ๆ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น