วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562

ความหมายสวนพฤกษศาสตร์

 สวนพฤกษศาสตร์

      สวนพฤกษศาสตร์ เป็นสถาบันทางวิชาการที่เป็นแหล่งรวบรวมพรรณพืชต่างๆ เอาไว้เพื่อทำการอนุรักษ์ ศึกษา วิจัยทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะทางด้านพฤกษศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ว่าด้วยพืช โดยมากจะมีการปลูกรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ ตามแต่ละนโยบาย ลักษณะพื้นที่ และงบประมาณของสวนพฤกษศาสตร์นั้นๆ เช่น สวนกล้วยไม้ สวนสมุนไพร สวนพืชให้สี สวนพืชมีพิษ หรือ ตามการจัดจำแนกพืชเป็นวงศ์ต่างๆ เช่น วงศ์ปาล์ม วงศ์ขิงข่า เป็นต้น โดยสวนพฤกษศาสตร์ที่มีมาตรฐานจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น แปลงรวบรวมพรรณพืช ห้องสมุด หอพรรณไม้ ห้องปฏิบัติการ นอกจากงานด้านอนุรักษ์พืชแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพืชสำหรับการศึกษาของนักวิจัย นักเรียนนักศึกษา หรือตอบสนองต่อการเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งแนวโน้มในปัจจุบันสวนพฤกษศาสตร์จะต้องตอบสนองต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ เช่น การเป็นแหล่งพันธุกรรมให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น

ต้นตีนเป็ด

ต้นตีนเป็ด

ต้นตีนเป็ด หรือ นิยมเรียก พญาสัตบรรณ เป็นไม้โตเร็ว ลำต้นสูงใหญ่ นิยมปลูกเป็นไม้มงคล และไม้ประดับ ให้ใบดกเป็นร่มเงา ดอกมีกลิ่นหอมแรงมากถึงฉุน เนื้อไม้นำมาแปรรูปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ เก้าอี้ โต๊ะ ไม่ตะเกียบ เป็นต้น แต่ไม่นิยมทำเป็นไม้ก่อสร้าง เนื่องจากไม่คงคงทน เนื้อไม้มีความหนาแน่นต่ำ
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : (Alstonia scholaris (L) R.Br.)
• วงศ์ : Apocynaceae
• ชื่อสามัญ : Dita, Shaitan wood, Devil Tree
• ชื่อท้องถิ่น :
– ตีนเป็ด
– ตีนเป็ดขาว
– พญาสัตบรรณ
– หัสบรรณ หัสบัน
– จะบัน
– บะซา
– ปูลา
– ปูแล
ไม้ในสกุลเดียวกันกับตีนเป็ดที่พบในไทยมีหลายชนิด มีลำต้น และใบที่คล้ายกัน เช่น
– ตีนเป็ดเล็ก (Alstonia angustiloba)
– ตีนเป็ดพรุ/ตีนเป็ดน้ำ (Alstonia pneumatophora)
– เที๊ยะ (Alstonia spathulata)
การกระจายพันธุ์
ต้นตีนเป็ด/เป็นพืชท้องถิ่นในเขตร้อน พบได้ในประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย  ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปในทุกภาค เป็นไม้ที่ชอบความชื้นสูง ดินระบายน้ำดี พบมากบริเวณใกล้แหล่งน้ำในป่าเบญจพรรณ หรือชายป่าพรุ  ไม่พบในป่าเต็งรังหรือบริเวณที่สูง (ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน, 2544)(1)
ต้นตีนเป็ด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น
ต้นตีนเป็ด/พญาสัตบรรณ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 35-40 เมตร ต้นอายุน้อยมีเรือนยอดเป็นรูปเจดีย์ทรงแบนเมื่อต้นใหญ่เต็มที่ โคนจะเป็นพูพอนขยายใหญ่ ลำต้นมีร่องตามแนวยาวของความสูง เปลือกมีสีเทาอมเหลือง หรือสีน้ำตาล เมื่อถาดเปลือกออกจะมีสีขาว เปลือกชั้นในสีน้ำตาลมีน้ำยางสีขาวไหลมาก เนื้อไม้ และกิ่งเปราะหักง่าย เนื้อไม้เรียบ แตกเป็นร่องง่าย กิ่งที่แตกออกมีรอยแตก เพื่อใช้แลกเปลี่ยนอากาศ
ลำต้นตีนเป็ด
เนื้อไม้ต้นตีนเป็ดมีสีขาวอมเหลือง แตกเป็นเสี้ยนตรงตามแนวยาว เนื้อหยาบเหนียว เนื้อไม้อ่อนไสกบง่ายมาก
2. ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบกิ่ง วงละ 5-8 ใบ ก้านใบยาว 1.5-3 ซม. แผ่นใบเหนียวเหมือนหนังคล้ายใบต้นดอกรัก แผ่นใบรูปรีถึงรูปหอก ปลายใบแหลม และมีติ่งเล็กน้อย ขอบ และผิวใบเรียบ ใบอ่อนมีสีด้านบน และด้านล่างใกล้เคียงกัน ใบแก่มีใบด้านบนสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างใบมีสีขาวนวล มีเส้นใบมาก มองเห็นชัดเจน เส้นใบกางออกเป็นมุมฉากกับเส้นกลางใบ
ใบตีนเป็ด
3. ดอก
ดอก ออกเป็นดอกช่อ ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีก้านดอกหลักยาว 3-8.5 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 1 มม. ดอกมีขนาดเล็ก ที่เป็นกลีบดอกรูปไข่ มีหยักเว้า ขนาด 1-1.9 x 1.5-2.3 มม. สีขาวหรือเหลืองอมเขียว ปลายดอกอาจแหลม และแบบมน มีขนนุ่มปกคลุม ปากท่อด้านในดอกมีขนยาวปุกปุย เกสรตัวผู้อยู่บริเวณกลางวงท่อกลีบดอก อับเรณูเกสรตัวผู้มีขนนุ่มปกคลุม ยาว 1.1-1.5 มม. เกสรตัวเมียมีขนาด 2.8-5.2 มม. ดอกเริ่มบานประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม เมื่อดอกบาน 1-2 วัน จะส่งกลิ่นหอมแรงมาก หากดมมากบางคนอาจวิงเวียนศรีษะได้
ตีนเป็ด1
4. ผล
ผลออกเป็นฝัก มีลักษณะกลมยาว สีขาวอมเขียว ออกเป็นคู่ มีผิวฝักเกลี้ยง หย่อนห้อยลงด้านล่าง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 ซม. ยาว 30-40 ซม. ปลายผลมีลักษณะมนกลม ฝักแก่มีสีเทาน้ำตาล และแตกตามตะเข็บ 2 ซีกซ้าย-ขวา ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก รูปทรงบรรทัด ยาวประมาณ 7 มม. มีขนยาวอ่อนนุ่มเป็นกระจุกที่ปลายทั้งสองข้าง สำหรับพยุงลอยตามลม ฝักแห้ง 1 กิโลกรัม จะมีจำนวนฝักประมาณ 260 ฝัก หลังจากดอกบานจะเริ่มติดฝักประมาณเดือนมกราคม และฝักแตกออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม
เพิ่มเติมจาก : ทวีวรรธน์ แดงมณี, 2548(2)
ประโยชน์ตีนเป็ด/พญาสัตบรรณ
• เป็นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร
• นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ไม้มงคล และให้ร่มเงา
• ดอกออกเป็นช่อ สวยงาม และดอกมีกลิ่นหอมแรง
• เนื้อไม้มีสีขาวอมเหลืองเหมาะสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น  หีบ โต๊ะ เก้าอี้
• เนื้อไม้ใช้ทำอุปกรณ์หรือไม้ใช้สอย เช่น ไม้จิ้มฟัน ดินสอ ตะเกียบ ฝักมีด ของเล่นเด็ก หีบศพ
• เนื้อไม้มีน้ำหนักเบา เหมาะสำหรับทำทุ่นอวน หรือทุ่นลอยเครื่องจับสัตว์น้ำ
ลักษณะโครงสร้างของเนื้อไม้ (วิรัช และ ดำรง, 2517)(3)
• วงปี เห็นไม่ชัด
• ท่อน้ำ (vessel) ท่อน้ำมีลักษณะกระจัดกระจาย ส่วนใหญ่เป็นท่อน้ำแฝด 2-5 เซลล์ มีท่อน้ำเดี่ยวปนอยู่บ้าง ภายในท่อน้ำบางท่อมีทายโลซิส (tylosis) มีแผ่นเปอร์ฟอเรชั่น (perforation) เป็นแบบรูเดี่ยว
• พาเรนไคมา (parenchyma) มีทั้งแบบติดท่อน้ำ และแบบไม่ติด
• ท่อน้ำ (apotracheal parenchyma) ท่อน้ำเป็นแถบแคบๆ กว้าง 1-4 เซลล์ ภายในเซลล์บางเซลล์จะมีผลึกอยู่
• เส้นใย (fiber)
– ยาวประมาณ 1,630 ไมครอน
– กว้างประมาณ 27 ไมครอน
– ผนังเส้นใยหนาประมาณ 4 ไมครอน
สมบัติทางกายภาพ
เนื้อไม้ตีนเป็ดมีลักษณะเป็นมัน ไม่มีกลิ่น มีรสขม สีขาวอมเหลืองอ่อนถึงน้ำตาลจางๆ น้ำหนักเบา เสี้ยนตรง เนื้อไม้ค่อนข้างละเอียด ไสกบตบแต่งง่าย
– ความชื้น 12%
– ความถ่วงจำเพาะ 0.4
– ความแข็งแรงในการดัด 428 กก./ตร.ซม.
– ความแข็งแรงในการบีบ 311 กก./ตร.ซม.
– ความแข็งแรงในการเชือด 79 กก./ตร.ซม.
– ความดื้อ 55,600 กก./ตร.ซม.
– ความเหนียวจากการเดาะ 1.23 กก.-ม.
– ความแข็ง 207 กก.
– ความทนทานจากการทดลองปักดิน 1.4 (0.8-2) ปี
สมบัติทางเคมี
– โฮโลเซลลูโลส 69.35%
– เซลลูโลส 53.51%
– ลิกนิน 31.72%
– การละลายใน 1% ของโซเดียมไฮดรอกไซด์ 13.99%
– การละลายในน้ำร้อน 5.55%
– การละลายในแอลกอฮอล์ และเบนซิน 4.01%
– การละลายในน้ำเย็น 3.99%
– ขี้เถ้า 1.24%
– เพ็นโตซาน 13.15%
ไม้ต้นตีนเป็ด เป็นเนื้อไม้อ่อน ความหนาแน่นน้อย สามารถเกิดราได้ง่าย  เมื่อตัดแล้วต้องรีบเก็บรักษาในที่ร่ม และแห้งหรือนำมาแช่น้ำ ส่วนไม้ที่แปรรูปแล้วต้องทำการผึ่งแดด อบหรือเคลือบน้ำยาจะช่วยเก็บรักษาได้นาน
ที่มา : ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน, 2544(1)
สรรพคุณตีนเป็ด/พญาสัตบรรณ
• เปลือก นำมาต้มดื่ม
– แก้ไอ ลดไข้ ลดอาการหวัด
– รักษามาเลเรีย
– แก้ท้องเสีย
– แก้บิด
– รักษาเบาหวาน
– รักษาโรคบิด
– รักษาหลอดลมอักเสบ
– รักษาโรคลักปิดลักเปิด
– ขับระดู
– ขับพยาธิ
– ขับน้ำเหลืองเสีย
– ขับน้ำนม
• เปลือก นำมาบดหรือต้มอาบ
– ใช้ทารักษาแผล แผลติดเชื้อ เป็นหนอง
– นำมาอาบช่วยป้องกันโรคเชื้อราทางผิวหนัง
• ใบ ใช้ต้มน้ำดื่ม
– ช่วยขับพิษต่าง ๆ
– รักษาโรคลักปิดลักเปิด
– แก้ไอ ลดไข้หวัด
• ยาง
– ใช้ทารักษาแผล แผลเน่าเปื่อย
– ผสมยาสีฟัน ลดอาการปวดฟัน
– ผสมกับน้ำมันแก้ปวดหู
– ใช้เป็นยาบำรุงกระเพาะ และยาบำรุงหลังเจ็บไข้
ที่มา : ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน,2544(1), ทวีวรรธน์ แดงมณี, 2548(2),อุฑารัตน์, 2542(4)
การปลูกตีนเป็ด/พญาสัตบรรณ
การเพาะต้นตีนเป็ดนิยมใช้วิธีการเพาะด้วยเมล็ด หรือใช้การปักชำ สำหรับเมล็ดที่นำมาเพาะต้องได้จากต้นที่มีลักษณะสมบูรณ์ ไม่มีรอยโรค ฝักมีลักษณะอวบใหญ่ ฝักยาวและต้องเป็นฝักแก่สีน้ำตาล เริ่มมีรอยปริแตกของฝัก เมื่อได้ฝักแล้วจะนำไปตากแดด ประมาณ 2 วัน เพื่อให้ฝักแตก สามารถแยกเอาเมล็ดออกได้ง่าย
การเพาะกล้าไม้
การเพาะสามารถเพาะลงแปลงปลูกหรือเพาะใส่ถุงเพาะชำก่อน แต่ทั่วไปนิยมเพาะในถุงเพาะชำ และดูแลให้น้ำสักระยะก่อนนำปลูก
วัสดุเพาะจะใช้ดินร่วนปนทรายผสมกับปุ๋ยคอกหรือขี้เถ้าหรือขุยมะพร้าว อัตราส่วนดินกับวัสดุที่ 2:1 บรรจุในถุงเพาะชำขนาด 4×6 นิ้ว หลังจากนั้นหยอดเมล็ด 1 เมล็ด/ถุง และจัดเรียงเป็นแถวให้สามารถเข้าดูแลได้ง่าย
การดูแลจะทำการให้น้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ช่วงเช้าหรือเย็น ให้เพียงพอหน้าดินที่ถุงชุ่ม ไม่ควรให้น้ำมากจนขังปากถุง ดูแลจนต้นกล้าอายุประมาณ 3 เดือน หรือสูงประมาณ 20-30 ซม. ก็จะพร้อมนำปลูกลงแปลง
การปลูก
หากปลูกเป็นสวนป่าขนาดหลายไร่ จำเป็นต้องไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืช 1-2 ครั้ง แต่ละครั้งตากดินนาน 5-7 วัน เป็นอย่างต่ำ ระยะการปลูกประมาณ 4×4 เมตร หรือมากกว่า
สำหรับการปลูกเพื่อเป็นไม้มงคล เป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนหรือสถานที่ราชการ นิยมปลูกบริเวณพื้นที่ว่างด้านหน้าเพื่อให้ร่มเงา และเ้นื่องจากต้นตีนเป็ดเมื่อโตเต็มที่จะสูงได้มากกว่า 20 เมตร และแตกทรงพุ่มได้กว้างกว่า 10 เมตร ดังนั้น จึงควรปลูกให้ห่างจากแนวสายไฟ และสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 8 เมตร หากต้นสูงมากควรมีการตัดแต่งกิ่ง และเรือนยอด
โรคแมลง
โรค และแมลงของต้นตีนเป็ดมักไม่ค่อยพบ แต่อาจพบการทำลายใบ เช่น หนอนม้วนกินใบ และมักพบการเติบโตของต้นไม่ดี ต้นแคระแกร็น ใบเหลืองจากสภาพดินเค็ม ดินแห้งแล้ง และขาดธาตุอาหาร

ต้นตะขบ

ต้นตะขบ

ตะขบไทย

ตะขบไทย ชื่อสามัญ Coffee plum, Indian cherry, Indian plum, East Indian plum, Rukam, Runeala plum[2]
ตะขบไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Flacourtia jangomas (Lour.) Raeusch. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Flacourtia cataphracta Roxb. ex Willd.)[1]ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์สนุ่น (SALICACEAE)
สมุนไพรตะขบไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ครบ (ปัตตานี), มะเกว๋นควาย (ภาคเหนือ), ตะขบควาย (ภาคกลาง), กือคุ (มลายู ปัตตานี) เป็นต้น[1]

ลักษณะของตะขบไทย

  • ต้นตะขบไทย จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของต้น เรือนยอดเป็นรูปไข่ทึบ โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนอ่อน แตกเป็นแผ่นบาง ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบขึ้นได้ตามป่าราบ ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง และตามป่าผลัดใบ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300-800 เมตร[1],[2],[3]
ต้นตะขบควาย
  • ใบตะขบไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบกลมคล้ายกับใบพุทรา โดยมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปหอกกลับ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ส่วนขอบใบจักตื้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียว ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเป็นมัน[1],[2],[3]
ใบตะขบควาย
  • ดอกตะขบไทย ดอกเป็นสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะสั้นตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศ อยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้มีกลีบดอก 5 กลีบ และมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียว มีขนทั้งสองด้าน มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนดอกเพศเมียจะคล้ายกับดอกเพศผู้ มีรังไข่เป็นรูปคนโท เกสรเพศเมียมี 2 พู ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์[2],[3]
ดอกตะขบควาย
  • ผลตะขบไทย ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นลูกกลม ๆ ขนาดเท่าลูกพุทรา ขนาดประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกเป็นสีแดงหรือสีม่วง เมื่อแก่เป็นสีดำ ผลมีรสหวานฝาดเล็กน้อย ภายในมีเมล็ดหลายเมล็ด ติดผลในช่วงประมาณเดือนเมษายน[1],[2],[3]
ผลตะขบควาย
ตะขบไทย

สรรพคุณของตะขบไทย

  1. รากมีรสฝาดเล็กน้อย ใช้ปรุงเป็นยาขับเหงื่อ (ราก)[1]
  2. รากมีสรรพคุณเป็นยากล่อมเสมหะและอาจม (ราก)[1]
  3. เนื้อไม้มีรสฝาด ใช้ทำเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิด มูกเลือด (เนื้อไม้)[1]
  4. เปลือก แก่น และใบ ใช้เป็นยารักษาอาการปวดเมื่อยตามตัว แก้โรคเหน็บชา รักษาอาการปวดข้อ แก้เส้นเอ็นพิการ (เปลือก, แก่น, ใบ)[4]

ประโยชน์ของตะขบไทย

  1. ผลสุกมีรสฝาดหวาน ใช้รับประทานได้[3],[4]
  2. ตะขบไทยเป็นไม้ชนิดหนึ่งที่สามารถนำใบมาใช้ในการย้อมสีได้ โดยใช้อัตราส่วนของใบสดต่อน้ำ 1:2 เมื่อนำไปสกัดใช้ใบสด 15 กรัม ย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม สีเส้นไหมที่ได้จะขึ้นอยู่กับวิธีการสกัดสีและการใช้สารช่วยติดสีชนิดต่าง ๆ ซึ่งการสกัดสีโดยใช้ใบสดนำมาต้มกับน้ำนาน 1 ชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำ นำมาย้อมเส้นไหมด้วยวิธีการย้อมร้อน 1 ชั่วโมง และแช่ในสารละลายช่วยติดสีจุนสีหลังย้อมจะได้เส้นไหมสีน้ำตาลเขียว ส่วนการใช้จุนสีขณะย้อมจะได้เส้นไหมสีน้ำตาลเขียวเช่นกัน แต่ถ้านำมาสกัดน้ำสีด้วยวิธีการคั้นเอาน้ำ กรองเอาแต่น้ำ แล้วย้อมเส้นไหมด้วยวิธีการย้อมร้อน และแช่สารละลายช่วยติดสีจุนสีหลังย้อมจะได้เส้นไหมสีเขียวขี้ม้า[2]
  3. ใช้ปลูกทั่วไป ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาในสวนผลไม้หรือตามสวนป่าเพื่อเป็นอาหารของนก

ต้นกระบือ

ต้นกระบือ

กระบือเจ็ดตัว

กระบือเจ็ดตัว ชื่อสามัญ Picara[5]
กระบือเจ็ดตัว ชื่อวิทยาศาสตร์ Excoecaria cochinchinensis Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Excoecaria bicolor (Hassk.) Zoll. ex Hassk., Excoecaria cochinchinensis var. cochinchinensis) จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[4]
สมุนไพรกระบือเจ็ดตัว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะเบือ (ราชบุรี), ใบท้องแดง (จันทบุรี), บัว บัวลา กระทู้ กระทู้เจ็ดแบก (ภาคเหนือ), กระบือเจ็ดตัว กำลังกระบือ ลิ้นกระบือ (ภาคกลาง), ต้นลิ้นควาย, ตาตุ่มไก่, ตาตุ่มนก, ลิ้นกระบือขาว เป็นต้น[1],[3],[4]

ลักษณะของกระบือเจ็ดตัว

  • ต้นกระบือเจ็ดตัว จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อม มีความสูงได้ประมาณ 0.5-1.5 เมตร แตกกิ่งก้านมาก มีรูอากาศตามผิวกิ่ง ตามกิ่งก้านมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนม[1],[4] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้เร็ว ขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบดินร่วน ความชื้นในระดับปานกลางถึงสูง และแสงแดดแบบเต็มวันถึงรำไร เป็นพืชที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบอินโดจีน รวมทั้งบ้านเราด้วย[3],[5],[6]
ต้นกระบือเจ็ดตัว
  • ใบกระบือเจ็ดตัว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบกิ่งหรือออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-13 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีม่วงแดง เส้นแขนงใบมีข้างละ 7-12 เส้น ก้านใบยาวได้ประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร หูใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร[1],[4]
ใบกระบือเจ็ดตัว
ใบท้องแดง
  • ดอกกระบือเจ็ดตัว ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีเหลืองอมเขียว ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่คนละต้นกัน ช่อดอกเพศเมียจะอยู่ส่วนล่าง ส่วนปลายด้านบนจะเป็นดอกเพศผู้ โดยช่อดอกเพศผู้จะเป็นแบบช่อกระจะ ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีดอกย่อยอยู่จำนวนมาก โคนก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็กลักษณะเป็นรูปไข่เรียงซ้อนกัน มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 1.7 มิลลิเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ ลักษณะกลีบเลี้ยงเป็นรูปหอก ปลายจักเป็นฟันเลื่อยถี่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.6-1 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มีขนาดเล็กมาก มี 3 อัน อับเรณูเป็นรูปกลม สั้นกว่าก้านชูอับเรณูเล็กน้อย ส่วนช่อดอกเพศเมียจะสั้นกว่าดอกเพศผู้ มีดอกประมาณ 2-3 ดอก ขนาดประมาณ 1.2-1.5 ถึง 1-1.3 มิลลิเมตร ก้านดอกแข็ง ยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร โคนก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็ก ๆ และมีต่อมเล็ก ๆ สีเหลือง กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กเป็นรูปไข่ มี 3 กลีบ ติดกันที่ฐานเล็กน้อย มีขนาดกว้างประมาณ 1.2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.8 มิลลิเมตร รังไข่เล็กเป็นสีเขียวอมชมพู กลม เกลี้ยง มีช่อง 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมี 3 อัน ยาวประมาณ 2.2 มิลลิเมตร[1],[4]
ดอกกระบือเจ็ดตัว
  • ผลกระบือเจ็ดตัว ผลมีขนาดเล็กลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร ฐานตัด ปลายผลเว้าเข้า ผลมีพู 3 พู เป็นผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกออกได้เป็น 3 ส่วน ภายในมีเมล็ดลักษณะเกือบกลม เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 มิลลิเมตร[1],[4]
ผลกระบือเจ็ดตัว

สรรพคุณของกระบือเจ็ดตัว

  1. ใบตากแห้งใช้ชงดื่ม เช่น ใบชาเป็นยารักษาโรคกษัย (ใบ)[3]
  2. ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้ (ใบ)[4]
  3. กระพี้และเนื้อไม้ใช้เป็นยาถอนพิษผิดสำแดง ถอนพิษไข้ แก้ร้อนภายใน (กระพี้และเนื้อไม้)[4]
  4. ใบมีรสร้อนเฝื่อนขื่น ใช้ใบสดประมาณ 7-10 ใบ นำไปตำกับเหล้าขาวหรือเหล้าโรง คั้นเอาน้ำกินเป็นยาขับน้ำคาวปลาหลังคลอดให้สะดวก ขับเลือดเน่าเสียของสตรี แก้อักเสบบริเวณปากมดลูก แก้สันนิบาตหน้าเพลิง (บาดทะยักในปากมดลูก) ขับเลือดร้าย แก้สันนิบาตเลือด แก้ประจำเดือนขัดข้อง ช่วยทำให้เลือดกระจาย (ใบ)[1],[2],[3],[4]
  5. ใบใช้กินเป็นยาขับเลือดเสีย (ใบ)[1]
  6. ในชวาจะใช้ใบสดตำพอกห้ามเลือด (ใบ)[1],[4]
  7. ใช้เป็นยาแก้บวมฟกช้ำ ดำเขียว แก้พิษบาดทะยัก (ใบ)[4]
  8. ในฮ่องกง จะใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้คางทูม ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้หัด แก้ปวดตึงกล้ามเนื้อ (ทั้งต้น)[4]
ข้อควรระวัง : มีบางข้อมูลระบุว่า ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ในคนที่มีร่างกายปกติ เพราะจะทำให้เลือดออกในทวารทั้งเจ็ดได้ และต้องใช้โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมหรือเภสัชกรรมเท่านั้น (ไม่มีแหล่งอ้างอิง) และยังมีข้อมูลที่ระบุด้วยว่า ในใบและยางจะมีสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง อาการเป็นพิษที่เกิดจะขึ้นอยู่กับส่วนของร่างกายที่สัมผัสสาร ส่วนวิธีการรักษานั้นให้รักษาไปตามอาการ ถ้าถูกยางที่ผิวหนังให้รีบล้างออกด้วยสบู่และน้ำสะอาดและทาด้วยครีมสเตียรอยด์ แต่หากเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งในทันที และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป (ไม่มีแหล่งอ้างอิง)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระบือเจ็ดตัว

  • ในใบกระบือเจ็ดตัวพบ beta-sitosterol, beta-sitosteryl-3-O-D-glucopyranoside, methyl 10-epipheophorbide-a, kaempferol, gallic acid, chiro-inositol, KCl[4]
  • จากการทดลองในสัตว์พบว่า สารสกัดจากกระบือเจ็ดตัวด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์บีบมดลูก[2]

ประโยชน์ของกระบือเจ็ดตัว

  1. ยางจากต้นเป็นพิษ ในประเทศอินโดนีเซียจะนำมาใช้เป็นยาเบื่อปลา[1],[4]
  2. นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดยนำมาปลูกลงในกระถางประดับตามมุมบ้าน หรือปลูกเป็นกลุ่ม ๆ ปลูกลงในแปลงประดับสวนทั่วไป ทั้งในสภาพแสงมากและแสงน้อย เป็นไม้พุ่มที่นิยมใช้กันมาก สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[4],[5],[6]
  3. ใช้ทำดอกไม้ประดิษฐ์[6]
  4. ใช้ทำเป็นลูกประคบเพื่อรักษาก้อนไขมันที่บริเวณข้อมือ ด้วยการใช้ใบกระบือเจ็ดตัว 1 กำมือ นำมาผสมกับหญ้าตีนกาและใบกะเพราแดง (อย่างละเท่ากัน) ผสมเกลือและการบูรอีกเล็กน้อย ห่อเป็นลูกประคบและพรมด้วยสุรา จากนั้นนำไปนึ่งและใช้ประคบบริเวณที่เป็น (ข้อมูลจาก : www.starten.co.th)
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “กระบือเจ็ดตัว (Kra Bue Chet Tua)”.  หน้า 32.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “กระบือเจ็ดตัว”.  หน้า 111.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ใบท้องแดง”.  หน้า 442.
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระบือเจ็ดตัว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [28 มิ.ย. 2015].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “ลิ้นกระบือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th.  [28 มิ.ย. 2015].
  6. คมชัดลึกออนไลน์.  “กระบือเจ็ดตัว เป็นยา”.  (นายสวีสอง). 

อ้างอิง   https://medthai.com/%

ต้นหมาก

ต้นหมาก

หมาก

หมาก ชื่อสามัญ Areca nut, Areca nut palm, Areca palm, Betel nut palm, Betel Nuts[1],[5]
หมาก ชื่อวิทยาศาสตร์ Areca catechu L. จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE[1],[2],[3]
สมุนไพรหมาก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมากเมีย (ทั่วไป), หมากสง (ภาคใต้), แซ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), สีซะ (กะเหรี่ยง-ภาคเหนือ), มะ (ชอง-ตราด), เซียด (ชาวบน-นครราชสีมา), ปีแน (มลายู-ภาคใต้), ปิงน๊อ (จีนแต้จิ๋ว), ปิงหลาง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของต้นหมาก

  • ต้นหมาก มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียเขตร้อน จัดเป็นไม้ยืนต้นจำพวกปาล์ม มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นตั้งตรง เป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้าน ลักษณะของลำต้นเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-12 เซนติเมตร เปลือกลำต้นเป็นรอยขวั้นรอบ ๆ ขึ้นไปตลอดลำต้น ในระยะแรกจะเจริญเติบโตด้านกว้างและด้านสูง แต่หลังจากหยุดการเจริญเติบโตจะเจริญเติบโตด้านความสูง ต้นหมากมีตายอดส่วนปลายสุดของลำต้น ถ้ายอดตายหมากจะตาย ตายอดจะเป็นที่เกิดของใบหลังจากใบร่วงหล่นจะทิ้งรอยติดของใบไว้ เรียกว่าข้อ ข้อของต้นหมากสามารถคำนวณหาอายุหมากได้ 1 ปี โดยหมากจะมีใบหรือข้อเพิ่มขึ้น 5 ใบ หรือ 5 ข้อ ต้นหมากจะมีเนื้อเป็นเสี้ยนยาวจับตัวกันแน่นบริเวณเปลือกนอกลึกเข้าไปประมาณ 2 เซนติเมตร แต่ส่วนกลางของลำต้นเป็นเสี้ยนไม่อัดแน่น และมีเนื้อไม้อ่อนนุ่มคล้ายกับฟองน้ำ จึงทำให้ต้นหมากเหนียวและสามารถโยกเอนได้มาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลสูงกว่า 700 เมตร[1],[3],[5]
ต้นหมาก
  • ใบหมาก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายยอด ก้านใบรวมยาวได้ประมาณ 130-200 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแคบ ใบอ่อนมีรอยแยก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบหนา กาบใบหุ้มลำต้น[1],[3]
ใบหมาก
  • ดอกหมาก (จั่นหมาก) โดยจะออกตามซอกโคนก้านใบหรือกาบนอก ดอกออกรวมกันเป็นช่อขนาดใหญ่ประกอบไปด้วยโคนจั่นยึดติดอยู่ที่ข้อของลำต้น ก้านช่อดอกเป็นเส้นยาวแตกออกโดยรอบแกนกลาง มีกลีบหุ้มช่อขนาดใหญ่ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร เป็นมันเงา มีใบประดับหุ้มอยู่ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกเป็นสีขาวแกมสีเหลืองมี 6 กลีบ เรียงเป็นชั้น 2 ชั้น สีเขียว ยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน มีเกสรเพศเมียเป็นเส้น 3 เส้นบาง ๆ แผ่ออก ดอกเพศผู้จะมีขนาดเล็กและอยู่ตรงส่วนปลายของก้านช่อดอก ส่วนดอกเพศเมียจะค่อนข้างใหญ่และอยู่ที่โคนก้านช่อดอก ดอกเพศผู้จะใช้เวลาประมาณ 21 วัน หลังจากนั้น 5 วัน ดอกเพศเมียจะเริ่มบาน[1],[3],[5]
ดอกหมาก
  • ผลหมาก ผลออกเป็นทะลาย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม รูปกลมรี รูปไข่ รูปไข่ปลายแหลม หรือเป็นรูปกระสวยขนาดเล็ก โดยเฉลี่ยแล้วผลที่รวกมันเป็นทะลาย ในหนึ่งทะลายจะมีผลอยู่ประมาณ 10-150 ผล ผิวผลเรียบ มีกลีบเลี้ยงติดเป็นขั้วผล ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ผลดิบหรือผลสดเปลือกผลจะเป็นสีเขียวเข้ม เรียกว่า “หมากดิบ” ผลเมื่อแก่เปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มทั้งผลหรือสีแดงแกมส้ม เรียกว่า “หมากสุก” หรือ “หมากสง” ผลประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ เปลือกชั้นนอก (ส่วนของเปลือกที่เป็นเยื่อบาง ๆ สีเขียว เนื้อเปลือกมีเส้นใยละเอียดเหนียว), เปลือกชั้นกลาง (เป็นเส้นใยหนามากมองเห็นชัด), เปลือกชั้นใน (เป็นเยื่อบาง ๆ ละเอียดติดอยู่กับเนื้อหมาก), และส่วนของเมล็ดหรือเนื้อหมาก เมื่ออ่อนจะนิ่ม เนื้อส่วนผิวจะมีลายเส้นสีเหลืองถึงสีน้ำตาล ส่วนเนื้อจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ถึงสีเหลืองเข้มอมแดง ภายในผลมีเมล็ดเดียว มักออกผลในช่วงเดือนพฤษภาคม[1],[3],[4],[5]
ผลหมาก
ลูกหมาก
เมล็ดหมาก

สรรพคุณของหมาก

  1. ผลอ่อนมีรสฝาดหวาน สรรพคุณเป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผล)[1]
  2. เปลือกผลมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ (เปลือกผล)[3]
  3. รากมีรสฝาดเย็น มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคกษัย (ราก)[1]
  4. ผลใช้เป็นยาแก้โรเบาหวาน ด้วยการใช้หมากที่กินกับพลูแบบสด 1 ลูก นำมาผ่าเป็น 4 ซีก ต้มกับน้ำ 1 ลิตร จนเดือดหรือประมาณ 10 นาที ใช้ดื่มก่อนอาหารครั้งละครึ่งแก้วเช้า กลางวัน และเย็น เมื่อนำตาลในเลือดลดลงก็ให้นำมาต้มดื่มแบบวันเว้นวันได้ ซึ่งหมากจะมีฝาด จึงช่วยสมานแผลของผู้เป็นโรคเบาหวานให้หายเร็วขึ้นได้อีกด้วย (ผล)[13]
  5. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้หวัด (ใบ)[2]
  6. รากหมากใช้ผสมกับรากมะพร้าว รากมะกอก รากมะปรางเปรี้ยว รากมะปรางหวาน ลูกกระจับน้ำ ลูกบัวหลวง เกสรบัวหลวง และหัวแห้ว ใช้กินเป็นยาแก้พิษผิดสำแดงไข้ (ราก)[2]
  7. รากนำมาต้มกับน้ำเป็นยาแก้พิษร้อนภายใน แก้พิษไข้ร้อน (ราก)[1],[2],[13] หรือจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำกินและอาบเป็นยาแก้ไข้ แก้หวัดก็ได้ (ใบ)[13]
  8. หมากมีสรรพคุณในการรักษาโรคมาลาเรีย (ผล)[14]
  9. ช่วยขับเหงื่อ (เมล็ด)[4]
  10. ดอกเพศผู้ เป็นยาหอม ช่วยแก้กระหายน้ำ (ดอกเพศผู้)[12]
  1. ผลมีสรรพคุณช่วยแก้อาการไอ (ผล)[
  2. ช่วยขับเสมหะ (เนื้อผล)[1],[3]
  3. หมากแก่ หรือ หมากสง มีรสฝาดจัด มีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะในลำไส้เป็นพิษ ช่วยปิดธาตุ และสมานแผล (หมากแก่)[4]
  4. ช่วยแก้เมา แก้อาเจียน (ผล)[1]
  5. ผลหมากสุกเมื่อนำมาต้มกับน้ำกินแล้วจะช่วยป้องกันอาการของโรคต้อหินหรือความดันภายในลูกตา เพื่อไม่ให้สูงจนผิดปกติได้ (ผล)[14]
  6. ตำรายาไทยจะใช้เมล็ดเป็นยารักษาโรคในปาก ช่วยแก้ปากเปื่อย (เมล็ด)[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุให้ใช้รากนำมาต้มกับน้ำเดือดใช้อมในขณะยังอุ่นแก้ปากเปื่อย (ราก)[8],[11],[13]
  7. รากนำมาต้มเอาน้ำอมช่วยถอนพิษถูกสารปรอทตามฟันได้ดีมาก (ราก)[8],[13]
  8. ช่วยทำให้เหงือกและฟันแข็งแรง (เมล็ด)[4]
  9. ช่วยบำรุงกระเพาะ (ดอกเพศผู้)[12]
  10. เปลือกผลมีรสเผ็ด เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อม้ามและกระเพาะลำไส้ ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับน้ำในกระเพาะลำไส้ และช่วยในการย่อยอาหาร (เปลือกผล)[3]
  11. เนื้อภายในผลมีรสขมฝาดเผ็ดเล็กน้อย เป็นยาร้อนเล็กน้อยออกฤทธิ์ต่อม้าม กระเพาะ และลำไส้ใหญ่ มีสรรพคุณช่วยขับน้ำชื้น ขับสิ่งคั่งค้าง แก้พุงโรแน่นท้อง ขับลมในกระเพาะลำไส้ (เนื้อผล)[3]
  12. ตำรับยาแก้กระเพาะอาหารไม่ย่อย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ด้วยการใช้เนื้อของผลหมาก, เปลือกส้มเขียว, ถิ่งพ้วย อย่างละ 12 กรัม อึ่งแปะ, ดินประสิว, โกฐน้ำเต้า, หัวแห้วหมู และซำเล้ง อย่างละ 6-7 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือนำมาบดเป็นผงปั้นเป็นยาลูกกลอนกิน (เนื้อผล)[3]
  13. รากมีสรรพคุณเป็นยาสมานลำไส้ (ราก)[1],[2],[13]
  14. ช่วยแก้อาการท้องเดิน (ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) (ราก)[1] เมล็ดมีสรรพคุณช่วยรักษาท้องเดิน ท้องเสีย (เมล็ด)[4]
  15. ช่วยแก้โรคบิด (ราก)[11]
  16. ช่วยแก้บิดปวดเบ่ง ปวดแน่นท้อง (เมล็ด)[4]
  17. ช่วยแก้บิดทวารหนัก (เนื้อผล)[3]
  18. ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ยาขับพยาธิได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ ด้วยการใช้เนื้อในผลหมาก นำมาบดให้เป็นผง โดยใช้ประมาณ 50-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินในขณะท้องว่าง (เนื้อผล)[3],[4],[14]
  19. ช่วยขับพยาธิในถุงน้ำดี ด้วยการใช้เนื้อในผลและเล็บมือนาง อย่างละ 35 กรัม, โกฐน้ำเต้า 6 กรัม, พริกหอม 3 กรัม, บ๊วยดำ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินในขณะท้องว่าง (เนื้อผล)[3]
  20. ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้เมล็ดหมากผสมกับกาฝากต้นโพ เห็ดกระด้าง และรากมะเขือแจ้ดอกคำ นำมาฝนกับน้ำกินเป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (เมล็ด)[2],[4]
  21. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด)[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่ารากก็มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (ราก)[11]
  22. เปลือกผลมีสรรพคุณช่วยลดอาการบวมน้ำตอนช่วงล่างของเอว (เปลือกผล)[3] ส่วนเนื้อผลมีสรรพคุณช่วยลดอาการขาบวมน้ำ (เนื้อผล)[3]
  23. ช่วยป้องกันสารพิษทำลายตับ (ใบ)[2],[13] ช่วยล้อมตับดับพิษ ช่วยขับพิษภายในและภายนอก (ใบ)[9],[11]
  24. ผลมีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล (ผล)[1] เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาสมานทั้งภายนอกและภายใน ช่วยสมานแผลทำให้เลือดหยุดไหล และแผลหายเร็ว ด้วยการใช้เมล็ดหรือเนื้อหมากนำมาปิดบริเวณบาดแผล (เมล็ด)[4],[11]
  25. รากมีสรรพคุณช่วยถอนพิษบาดแผล (ราก)[1]
  26. เมล็ดใช้เป็นยายับยั้งการไหลของหนองเวลาเป็นแผล (เมล็ด)[4]
  27. เมล็ดใช้ฝนทารักษาแผลเน่าเปื่อย แผลเป็น ช่วยฆ่าพยาธิบาดแผล ขจัดรอยแผลเป็น (เมล็ด)[4],[12]
  28. เมล็ดใช้ภายนอกเป็นยาทาแก้คัน (เมล็ด)[4] บางข้อมูลระบุว่าใบนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยแก้เม็ดผดผื่นคันตามตัวได้ (ใบ)[9],[11],[13]
  29. ช่วยแก้เกลื้อน (ราก)[1]
  30. ใช้รักษาหูด ด้วยการใช้ผลดิบ 1 ผล (ผลหมากที่สุกแก่แต่ยับดิบอยู่) นำมาฝานเอาเนื้อในออกมาเป็นชิ้น ๆ เหมือนการเตรียมหมากเพื่อกิน หลังจากนั้นนำไปย่างไฟให้ร้อน แล้วรีบนำมาพอกทับปิดที่หัวหูดทันที จะช่วยทำให้หัวหูดหลุดลอกออกมาได้ (ผล)[14]
  31. ช่วยรักษาโรคน้ำกัดเท้า ด้วยการนำผลหมากมาผ่าเป็น 4 ซัก แล้วใช้ทั้งเปลือกและเนื้อในถูทาบริเวณที่ถูกน้ำกัดเท้าจนเกิดแผลบ่อย ๆ ทุกวัน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด(ผล,เมล็ด)[4],[8]
  32. รากนำมาแช่กับเหล้ากินเป็นยาแก้ปวดเมื่อยเส้นเอ็นได้ดีมาก (ราก)[2],[13]
หมายเหตุ : วิธีการใช้ตาม [3] ถ้าเป็นเนื้อในผล ยาแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 5-10 กรัม ส่วนเปลือกผล ยาแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 6-20 กรัม ถ้าใช้เป็นยาขับถ่ายพยาธิ ให้ใช้เนื้อผลได้ถึง 50-80 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินตอนท้องว่างหรือบดเป็นผงกิน